Friday, January 8, 2010

เจียวกู่หลาน สรรพคุณสุดยอด

เจียวกู่หลาน สรรพคุณสุดยอด
เจียวกู่หลาน หรือ GYNOSTEMMAPEENTAPHYLLUM MARKINO อยู่ในวงศ์ CUCUBIRACEAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นกลมสีเขียว แตกกิ่งก้านทอดเลื้อยตามหน้าดินหรือไต่พาดพันต้นไม้อื่น มีรากหรือมือเกาะเป็นเส้นตามโคนก้านใบแล้วจะฝังลงดินแผ่กระจายไปเรื่อย ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 5 ใบ ขนาดไม่เท่ากันเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย สีเขียวเข้ม
ดอกเป็นสีแดงขนาดเล็ก ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อกระจุก 2 – 3 ดอก ออกที่ปลายยอด มีกลีบดอก 4 กลีบ ดอกจะออกเมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น ปัจจุบันเจียวกู่หลาน มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี แผลคุณตุ๊ก หน้าตึกกองอำนวยการ ราคาสอบถามกันเอง มีชื่อเรียกอีก คือ หญ้ามหัศจรรย์ โสมภาคใต้ โสมห้าใบ สมุนไพรอมตะ ญี่ปุ่นเรียก อะมาซาซูรู หรือ ชาวหวานจาเถา
สรรพคุณ ทั้งต้นตั้งแต่ยอดถึงราก มีส่วนประกอบสำคัญเท่ากับโสมถึง 6 ชนิดรวมกัน ช่วยเสริมสร้างพลัง ช่วยรักษาโรคเฉียบพลันและร้ายแรงของคนวัยกลางคน จนถึงวัยชรา เช่น โรคเส้นเลือดใหญ่อุดตัน ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตต่ำ เบาหวาน หอบหืด และโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้เข้มแข็ง มีพลัง ทำให้ร่างกายมีความต้านทานโรคระบาดได้ และรู้สึกกระชุ่มกระชวย “ฟื้นหนุ่มสาว” กลับคืนมาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ซึ่งผลการศึกษาวิจัยช่วยให้นอนหลับดี ต้านอนุมูลอิสระ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดระดับไขมันในเลือด เสริมระบบภูมิคุมกันยังยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีมาก

ผักคราดหัวแหวน อร่อยมีสรรพคุณ
คนรุ่นใหม่น้อยคนนักจะรู้จักหรือเคยรับประทานผักคราดหัวแหวน ซึ่งผักชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้าน นิยมรับประทานกันมาแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดแล้ว โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะเอาทั้งต้นกินเป็นผักสดกับป่นปลา แจ่วซุบขนุน ซุบเห็ด ซุบหน่อไม้ หรือใส่แกงหน่อไม้ แกงอ่อมปลา เนื้อ หรือหมู ดับกลิ่นคาวได้ดีมาก รสชาติหอมเผ็ดปร่าชาลิ้นอร่อยมาก โดยเฉพาะดอกจะมีรสเผ็ด ใบรสหวานปนขมและเย็น เมื่อปรุงกับอาหารจะชวนให้รับประทานมาก คนโบราณนิยมเอาใบสดเคี้ยวแก้ปวดฟัน เป็นยาชาได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม “ผักคราดหัวแหวน” นอกจากจะใช้ปรุงเป็นอาหารและกินสดกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ ได้อร่อยตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทั้งต้นยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย โดยนำไปสกัดทำเป็นยาชา มีสรรพคุณแก้พิษตามทวาร แก้ริดสีดวงทวาร แก้ผอมเหลือง แก้เด็กตัวร้อน ต้นสดตำผสมเหล้า 40 ดีกรี หรือน้ำส้มสายชูอมแก้ผีในคอต่อน้ำลายอักเสบดีมาก แก้ไข้ แก้ปวดฟัน ทั้งต้นรสเผ็ดร้อนช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลมและช่วยย่อยอาหารได้
ผักคราดหัวแหวน หรือ SPILANTHES AEMELLA MURR อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรง สูง 20 – 30 ซม. หรือทอดไปตามหน้าดินเล็กน้อย แต่ปลายจะชูขึ้น ลำต้นกลม อวบน้ำ เป็นสีม่วงปนสีเขียว หรือสีแดงเข้มลำต้นอ่อนมีขนปกคลุม ต้นเป็นข้อปล้อง ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้ามบริเวณข้อใบเป็นรูปสามเหลี่ยมขอบใบหยักพับ ก้านใบยาว ผิวใบสากมือ มีขน สีเขียวสด
ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะดอกเป็นกระจุกสีเหลือง ปลายดอกแหลมคล้ายหัวแหวน จึงถูกตั้งชื่อตามลักษณะดอกว่า ผักคราดหัวแหวน ดอกย่อยมี 2 วง วงนอกเป็นตัวเมีย วงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เวลามีดอกจะดูแปลกตามาก
ผลรูปไข่ มีเมล็ด ดอกออกทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ปักชำต้น โดยจะมีรากงอกออกมาบริเวณข้อ สามารถตัดเอาช่วงดังกล่าวไปปักชำได้เลย มีชื่อเรียกอีกคือ ผักคราด, ผักตุ้มหู, หญ้าตุ้มหู, ผักเผ็ด ชาวจีนแต้จิ๋ว เรียกผักชนิดนี้ว่า “อึ้งฮวยเกี้ย” นิยมปลูกแพร่หลายตามสวนยาจีน สวนยาไทย มีต้นวางขายเป็นผักสดให้คนซื้อไปรับประทานตามแผงขายผักพื้นบ้านทั่วไป ราคากำละไม่เกิน 10 บาท

นางแลวดอกม่วง อร่อยรากเป็นยา
นางแลว เป็นไม้ป่าที่พบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าแล้ง ป่าดิบเขา ทุกภาคของประเทศไทย แต่จะมีมากที่สุดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะขึ้นอยู่ตามริมห้วย ริมลำธาร เป็นกอกว้างจำนวนมาก ชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่าไปขายในตลาดตัวเมือง นิยมเด็ดเอาเฉพาะดอกนำลงจากเขาไปจำหน่ายให้คนซื้อไปปรุงเป็นอาหาร บางครั้งจะถอนทั้งต้นกลับไปปลูกริมรั้วบ้านเพื่อเก็บดอกกินและขายเป็นรายได้เสริม ซึ่งนางแลวที่กล่าวถึงเป็นชนิดที่มีดอกสีขาว นิยมเอาดอกลวกจิ้มน้ำพริกชนิดต่าง ๆ หรือปรุงเป็นแกงกับปลาแห้ง แกงผักรวม แกงแครวมกับผักอย่างอื่น รสชาติอร่อยมาก ชาวเหนือนิยมรับประทานกันอย่างกว้างขวาง
ส่วนนางแลวดอกม่วง เป็นอีกชนิดหนึ่งที่เพิ่งพบมีต้นวางขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับสวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เมื่อไม่นานมานี้ โดยขายเป็นกอ 6-7 ต้น กำลังมีดอกตูมสีม่วงยังไม่บานติดมากับต้น ซึ่งผู้ขายบอกว่า เวลาดอกบานจะเป็นสีม่วงเข้มสวยงามน่ารักมากและดูคล้ายดอกบัว จึงถูกเรียกว่า “นางแลวดอกม่วง” สามารถปลูกเป็นไม้ประดับและปลูกเป็นผักริมรั้วเก็บดอกรับประทานได้เช่นเดียวกับนางแลวชนิดที่มีดอกสีขาวทุกอย่าง
นางแลวดอกม่วง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์เหมือนกับชนิดดอกสีขาวทุกอย่างคือ ASPIDISTRA SUTEPENSIS K. LARSEN อยู่ในวงศ์ LILIACEAE เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าใต้ดิน ต้นและใบสูงประมาณ 80 – 100 ซม. แตกต้นเป็นกอขนาดใหญ่และกว้าง ต้นและใบแท้งขึ้นจากเหง้าใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรูปเรียวกลม ปลายแหลม โคนใบป้านลึก ก้านใบสั้น โคนก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ใบยาวประมาณ 40-45 ซม. กว้าง 4-5 นิ้วฟุต แกนกลางใบค่อนข้างแข็ง มองเห็นชัดเจน เวลาแตกกอใหญ่และมีใบดก จะเป็นกอน่าชมมาก
ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยว ๆ จากโคนต้นหรือจากเหง้าใต้ดิน ชูก้านขึ้นเหนือดิน โดยก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 8-10 ซม. ก้านช่อเป็นสีขาว ดอกขณะยังตูมผิวดอกจะเป็นสีม่วงชัดเจน เมื่อบานกลีบดอกจะเป็นสีม่วงเข้มสวยงามมาก ดอกจะมีได้เรื่อย ๆ แต่จะมีดอกเยอะในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนของทุกปี ขยายพันธุ์ด้วยเหง้าหรือหน่อ ปัจจุบัน นางแลวดอกม่วง มีต้นขายที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี บริเวณโครงการ 24 แผงคุณหล้า-คุณแก้ว-คุณนิต” ราคาสอบถามกันเอง ปลูกได้ในดินทั่วไป ชอบน้ำ เวลามีดอกจะสวยงามมากและเก็บดอกกินเป็นอาหารได้ ส่วนรากรสขมเฝื่อนต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้หรือแก้ไอได้.


ที่มา : คอลัมน์ "เกษตรกรบนแผ่นกระดาษ" โดย นายเกษตร นสพ. ไทรัฐ